วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2555

การใช้ภาษาแสดงออกทางความคิด

การใช้ภาษาแสดงออกทางความคิด

 
 
การใช้ภาษาแสดงออกทางความคิด
มนุษย์สามารถใช้ภาษาแสดงออกทางความคิดของตนได้ในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้ คือ
1.ใช้ภาษาแสดงเหตุผล
2.ใช้ภาษาแสดงทรรศนะ
3.ใช้ภาษาในการโต้แย้ง
4.ใช้ภาษาในการโน้มน้าวใจ
การใช้ภาษาแสดงเหตุผล
ความหมายของคำว่าเหตุผล
เหตุผล หมายถึง ความคิดอันเป็นหลักทั่วไปกฎเกณฑ์ รวมทั้งข้อเท็จจริง ที่สนับสนุนข้อสรุป ข้อวินิจฉัย ข้อตัดสินใจ หรือข้อยุติ เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เนื่องจากเราใช้ เหตุผล ในการสนับสนุน ข้อสรุป เราอาจจะเรียก เหตุผล ว่าข้อสนับสนุนก็ได้ และข้อสรุป เป็นคำกลาง ๆ เป็นศัพท์เฉพาะ ที่เกี่ยวกับการแสดงเหตุผล ในภาษาที่ใช้กันอยู่ตามปกตินั้นอาจเรียกว่า ข้อสังเกต,การคาดคะเน, คำวิงวอน, ข้อคิด, หรือการตัดสินใจ ก็ได้
โครงสร้างของการแสดงเหตุผลและภาษาที่ใช้ในการแสดงเหตุผล
1. โครงสร้างของการแสดงเหตุผล ประกอบด้วย
- ตัวเหตุผล หรือเรีรยกว่า ข้อสนับสนุน
- ข้อสรุป

2. ภาษาที่ใช้ในการแสดงเหตุผล
มี 4 ลักษณะดังต่อไปนี้
2.1ใช้สันธานที่จำเป็นบางคำ มักเรียงเหตุผลไว้ก่อนสรุป โดยใช้สันธาน จึง เพราะ เพราะว่า เพราะฉะนั้น เพราะ……จึง หรืออาจเรียงข้อสรุปไว้ก่อนเหตุผล โดยใช้คำสันธาน เพราะ เพราะว่า ทั้งนี้เพราะว่า
2.2 ไม่ใช้สันธาน แต่เรียบเรียงข้อความโดยวางส่วนที่เป็นเหตุผล หรือส่วนที่เป็นข้อสรุปไว้ให้เหมาะสม ผู้ฟังก็จะรับสารได้ว่า ข้อความนั้นเป็นการแสดง เหตุผล อยู่ในตัว เช่น ฉันจะไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคใด ๆ เป็นอันขาด ฉันได้รับการสั่งสอนจากคุณแม่ให้สู้เสมอ จะเห็นว่า วรรคแรก เป็นข้อสรุป วรรคที่สอง เป็นเหตุผลที่สนับสนุนข้อสรุป
2.3 ใช้กลุ่มคำเรียงกันบ่งชี้ว่า ตอนใดเป็นเหตุผล หรือข้อสรุป เมื่อต้องการชี้เหตุผลและข้อสรุป ให้ชัดแจ้งลงไป ก็ระบุไปว่า ข้อสรุป ข้อสรุปว่า เหตุผลคือ เหตุผลที่สำคัญคือ
2.4 ใช้เหตุผลหลาย ๆ ประกอบกันเข้า เพื่อเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้แก่ข้อสรุปของตน โดยแยกแยะเหตุผลเป็นข้อ ๆ ไป เพื่อช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น
กระบวนการแสดงเหตุผลและการอนุมาน
การอนุมาน หมายถึงกระบวนการคิดในการหาข้อสรุปจากเหตุผลที่มีอยู่ การอนุมานมี 2 ประเภท คือ การอนุมานด้วยวิธีนิรนัย และการอนุมานด้วยวิธีอุปนัย
การอนุมานด้วยวิธีนิรนัย
การอนุมานด้วยวิธีนิรนัย คือ การแสดงเหตุผลจากส่วนรวม ไปหาส่วนย่อยหรือการอนุมาน จากหลักความจริงทั่วไปกับกรณีเฉพาะกรณีหนึ่ง แล้วอนุมาน ได้ข้อสรุป ซึ่งเป็นกรณีเฉพาะอีกกรณีหนึ่ง เช่น
หลักความจริงทั่วไป- มนุษย์ทั้งปวงต้องการปัจจัยสี่
กรณีเฉพาะกรณีหนึ่ง- ฉันเป็นมนุษย์
กรณีเฉพาะอีกกรณีหนึ่ง- เพราะฉะนั้นฉันต้องการปัจจัยสี่
หรืออาจจะใช้วิธีนิรนัยอย่างย่อเป็น ฉันเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้น ฉันต้องการปัจจัยสี่ หรือนี้จะใช้ข้อมูล หรือข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เป็นกรณีเฉพาะกี่กรณี ก็ได้ เป็นข้อสนับสนุน เพื่อหาข้อสรุปที่เป็นหลักหรือกฎเกณฑ์ทั่วไป วิธีอุปนัยนี้อาจจะใช้แนวเทียบในการหาข้อสรุปก็ได้
ข้อควรสังเกต ข้อสรุปด้วยวิธีนิรนัย ต้องเป็นเช่นนั้น ,ข้อสรุปด้วยวิธีอุปนัย น่าจะเป็นเช่นนั้น
ความหมายของคำ เหตุ และ ผล
เหตุ หรือ สาเหตุ หรือมูลเหตุ คือ สิ่งที่ทำให้เกิดสิ่งอื่นตามมา
ผล หรือ ผลลัพธ์ คือ สิ่งที่เกิดตามมาจากเหตุ
การอนุมานโดยพิจารณา สาเหตุและผลลัพธ์ที่สัมพันธ์กัน การอนุมานด้วยวิธีนี้คือ การอนุมานแบบวิธีอุปนัยนั่นเอง แบ่งได้ 3 ประเภทด้วยกันคือ
1. การอนุมานจากสาเหตุไปหาผลลัพธ์ เป็นการอนุมานโดยอาศัยความรู้ ความเข้าใจหาข้อสรุปว่าปรากฎการณ์นั้นทำให้เกิดผลลัพธ์อะไร เช่น ขยันดูหนังสือ (สาเหตุ) -> อนุมาน -> สอบได้ (ผลลัพธ์)

2. การอนุมานจากผลลัพธ์ไปหาสาเหตุ
เป็นการอนุมานจากปรากฎการณ์หรือเหตุการณ์ โดยอาศัยความรู้และเข้าใจของเรา เพื่อสืบหาสาเหตุ เช่น ผลการสอบ ไม่เป็นที่พอใจ -> อนุมาน -> ความไม่ประมาท ไม่เอาใจใส่
3. การอนุมานจากผลลัพธ์ไปหาผลลัพธ์
เป็นการอนุมานจากปรากฎการณ์หรือเหตุการณ์อย่างหนึ่ง ว่าเป็นผลลัพธ์ของสาเหตุใด แล้วพิจารณาต่อไปว่า สาเหตุนั้น อาจจะก่อให้เกิดผลลัพธ์อื่นๆ อีก ตัวอย่างอนุมานเช่น ตกคณิต (ผลลัพธ์) -> อ่อนคณิต (สาเหตุ) -> ตกฟิสิกส์ (ผลลัพธ์)
การรู้จักความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลนี้ ช่วยให้รู้จักพิจารณาสังเกตและทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีระเบียบ
การใช้ภาษาแสดงทรรศนะ
ทรรศนะ คือ ความคิดเห็นที่ประกอบด้วยเหตุผล
โครงสร้างของการแสดงทรรศนะ ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ
1.ที่มา คือ ส่วนที่เป็นเรื่องราวต่างๆที่ทำให้เกิดการแสดงทรรศนะ
2.ข้อสนับสนุน คือ ข้อเท็จจริง หลักการ รวมทั้งทรรศนะหรือมติของผู้อื่น ที่ผู้แสดงทรรศนะนำมาใส่ เพื่อสนับสนุนทรรศนะของตน
3.ข้อสรุป คือ สารสำคัญที่สุดของทรรศนะ อาจเป็นข้อเสนอแนะ ข้อวินิจฉัย หรือ ประเมินค่า
ความแตกต่างระหว่างทรรศนะของบุคคล
ทรรศนะของคนในสังคม อาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสิ่งสำคัญ 2 ประการคือ
1. คุณสมบัติตามธรรมชาติของมนุษย์ ได้แก่ เชาว์ ปฏิภาณ ไหวพริบ ความถนัด เป็นต้น จะพัฒนาได้ เต็มที่ต้องอาศัยการส่งเสริม และสนับสนุนจากสิ่งแวดล้อม
2. อิทธิพลของสิ่งแวดล้อม ทำให้บุคคลมีลักษณะแตกต่างกันในเรื่องความรู้ ประสบการณ์ความเชื่อและค่านิยมดังนี้
ความรู้ประสบการณ์จะทำให้บุคคลแสดงทรรศนะได้แตกต่างกันไป
ความเชื่อบุคคลแสดงทรรศนะต่างกันตามความเชื่อ ซึ่งได้จากการศึกษาอบรมทางครอบครัว และสิ่งแวดล้อม หรือวัยและประสบการณ์
ค่านิยมคือ ความรู้สึกที่มีอยู่ในจิตใจแต่ละคน เป็นเครื่องกำหนดพฤติกรรมและอิทธิพลต่อการแสดงทรรศนะของบุคคล
ประเภทของทรรศนะ
1. ทรรศนะเกี่ยวกับข้อเท็จจริง คือ ทรรศนะที่เกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วแต่ยังไม่ทราบข้อเท็จจริง การแสดงทรรศนะประเภทนี้ จึงเป็นเพียงการสันนิษฐาน จะน่าเชื่อถือเพียงใดขึ้นกับข้อสนับสนุน
2. ทรรศนะเกี่ยวกับคุณค่า ค่านิยมเป็นทรรศนะที่ประเมินว่าสิ่งใดดีหรือด้อย เป็นประโยชน์หรือ โทษ
3. ทรรศนะเกี่ยวกับนโยบาย เป็นทรรศนะที่บ่งชี้ว่าควรทำอย่างไร อย่างไรต่อไปในอนาคต หรือ ควรแก้ไขปรับปรุงสิ่งใดไปในทางใด อย่างไร การแสดงทรรศนะ เกี่ยวกับนโยบาย มักจะต้องเสนอข้อเท็จจริง เพื่อสนับสนุนนโยบายและประเมินค่านโยบายที่เสนอนั้นด้วย
วิธีใช้ภาษาในการแสดงทรรศนะ
ภาษาที่ใช้ในการแสดงทรรศนะนั้น จะต้องใช้ถ้อยคำกะทัดรัด ให้คำที่มีความหมายแจ่มชัด การเรียงลำดับ ความไม่สับสน วกวน และต้องใช้ภาษาให้ถูกต้อง กับระดับการสื่อสาร
ลักษณะที่ควรสังเกตในการใช้คำหรือกลุ่มคำในการแสดงทรรศนะ
1. ใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 หรือคำนามที่ประกอบกับกริยาวลีที่ชี้ชัดว่า เป็นการแสดงทรรศนะ เช่น พวกเรามีความเห็นว่า ……… , ข้าพเจ้าเข้าใจว่า…………… , ผมขอสรุปว่า……………..
2. ใช้คำหรือวลีที่บ่งชี้ว่าเป็นการแสดงทรรศนะ เช่น คำว่า น่า คง คงจะ ควร พึง ตัวอย่าง เช่น รัฐบาลน่าจะทบทวน……. คณะนักเรียนคงเข้าใจผิดว่า……. , โรงเรียนควรจะต้องคำนึงถึง……..
การประเมินค่าทรรศนะ
1. ประโยชน์และลักษณะสร้างสรรค์ ทรรศนะที่ดีควรก่อให้เกิดประโยชน์ และก่อให้เกิดสิ่งแปลกใหม่ ที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ ขณะเดียวกันก็คงสิ่งดีงามของสังคมไว้
2. ความสมเหตุสมผล ทรรศนะที่ดีจะต้องมีข้อสนับสนุน ที่มีน้ำหนักพอที่จะทำให้ข้อสรุปน่าเชื่อ
3. ความเหมาะสมกับผู้รับสาระและกาลเทศะ ในการพิจารณา จะต้องพิจารณาด้วยว่าทรรศนะนั้น แสดงแก่ผู้ใดและในโอกาสใด เพื่อจะประเมินได้ว่า เหมาะสมหรือไม่
การใช้ภาษา ภาษาที่ใช้ต้องชัดเจน แม่นตรงตามที่ต้องการ และเหมาะสม แก่ระดับการสื่อสารหรือไม่ เพียงใด
การโน้มน้าวใจ
การโน้มน้าวใจ คือ การใช้ความพยายามที่จะเปลี่ยนความเชื่อ ทัศนคติค่านิยมและการกระทำของบุคคลอื่น ด้วยกลวิธีที่เหมาะสมให้มีผลกระทบใจบุคคลนั้น จนเกิดการยอมรับและยอมเปลี่ยนตามที่ผู้โน้มน้าวใจต้องการ
ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์กับการโน้มน้าวใจ
ความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เป็นแรงผลักดันให้มนุษย์สร้างทัศนคติความเชื่อค่านิยม รวมทั้งกระทำพฤติกรรมอื่นๆ อีกนานัปการ เพื่อสนองความต้องการ ของตน เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์ถูกเร้าจนกระจักษ์ว่าถ้าตนได้ปรับเปลี่ยนความคิดและการกระทำไปตามแนวทางที่ถูกรบเร้านั้นแล้ว ตนก็จะได้รับสิ่ง ซึ่งสนองความต้องการ ขั้นพื้นฐาน ตามความปรารถนา เมื่อนั้นมนุษย์ก็จะตกอยู่ในสภาวะที่ถูกโน้มน้าวใจได้ หลักสำคัญที่สุดของการโน้มน้าวใจคือการทำให้มนุษย์ประจักษ์แก่ใจตนเองว่า ถ้าเชื่อเห็นคุณค่าหรือกระทำตามที่ผู้โน้มน้าวใจชี้แจงหรือชักนำ ก็จะได้รับผลที่ตอบสนองความต้องการขึ้นพื้นฐานของตน
การแสดงให้ประจักษ์ถึงความน่าเชื่อถือของบุคคลผู้โน้มน้าวใจ
1.การแสดงให้ประจักษ์ถึงความน่าเชื่อถือของบุคคลผู้โน้มน้าวใจโดยธรรมดาบุคคลที่มีคุณลักษณะ 3 ประการ คือ มีความรู้จริง มีคุณธรรม และมีความปรารถนาดี ต่อผู้อื่น ย่อมได้รับความเชื่อถือจากบุคคลทั่วไป
2.การแสดงให้ประจักษ์ ตามกระบวนการของเหตุผลผู้โน้มน้าวใจต้องแสดงให้ประจักษ์ว่า เรื่องที่ตนกำลังโน้มน้าวใจมีเหตุผลหนักแน่น และมีคุณค่าควร แก่การยอมรับ อย่างแท้จริง
3.การแสดงให้ประจักษ์ถึงความรู้สึก และอารมณ์ร่วมบุคคลที่มีอารมณ์ร่วมทันย่อมคล้อยตามทันได้ง่ายกว่าบุคคลที่มีความรู้สึกปฏิปักษ์ต่อกัน เมื่อใดที่ผู้โน้มน้าวใจ ค้นพบ และแสดงอารมณ์ร่วมออกมา การโน้มน้าวใจก็จะสัมฤทธิ์ผล
4.การแสดงให้เห็นทางเลือกทั้งด้านดีและด้านเสียผู้โน้มน้าวใจต้องโน้มน้าวผู้รับสารให้เชื่อถือ หรือปฏิบัติเฉพาะทางที่ตนต้องการ โดยชี้ให้ว่าสิ่งนั้น มีด้านที่เป็นโทษ อย่างไร ด้านที่เป็นคุณอย่างไร
5.การสร้างความหรรษาแก่ผู้รับสารการเปลี่ยนบรรยากาศ ให้ผ่อนคลายด้วยอารมณ์ขัน จะทำให้ผู้รับสารเปลี่ยนสภาพจากการต่อต้านมาเป็นความรู้สึกกลางๆ พร้อมที่จะคล้อยตามได้
6.การเร้าให้เกิดอารมณ์อย่างแรงกล้า เมื่อมนุษย์เกิดอารมณ์ขึ้นอย่างแรงกล้า ไม่ว่าดีใจ เสียใจ โกรธแค้น อารมณ์เหล่านี้ มักจะทำให้มนุษย์ไม่ใช่เหตุผลอย่างถี่ถ้วน พิจารณาถึงความถูกต้องเหมาะควร เมื่อมีการตัดสินใจ ก็อาจจะคล้อยไปตามที่ผู้โน้มน้าวใจเสมอแนะได้ง่าย
น้ำเสียงของภาษาที่โน้มน้าวใจ
ควรใช้ภาษาในเชิงเสนอแนะ ขอร้อง วิงวอน หรือเร้าใจซึ่งในการใช้ถ้อยคำให้เกิดน้ำเสียงดังกล่าว จะต้องเลือกใช้คำที่สื่อความหมายตามที่ต้องการ โดยคำนึงถึง จังหวะและความนุ่นนวลในน้ำเสียง
การพิจารณาสารโน้มน้าวใจลักษณะต่างๆ
1. คำเชิญชวน เป็นการแนะให้ช่วยกันกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง กลวิธีคือ การชี้ให้เห็นผู้ถูกโน้มน้าวใจเกิดความภาคภูมิใจว่า ถ้าปฏิบัติตามคำเชิญชวน จะได้ชื่อว่า เป็นผู้ทำประโยชน์แก่ส่วนรวม
2.โฆษณาสินค้าหรือโฆษณาบริการ ลักษณะสำคัญของโฆษณาสินค้าคือ
2.1 จะมีส่วนนำที่สะดุดหูสะดุดตาซึ่งมีผลทำให้สะดุดใจสาธารณชน
2.2 ตัวสารจะไม่ใช่ถ้อยคำที่ยืดยาว มักเป็นรูปประโยคสั้นๆ หรือวลีสั้นๆ
2.3 เนื้อหาจะชี้ให้เห็นถึงความดีของสินค้า
2.4 ผู้โฆษณาจะโน้มน้าวใจที่มุ่งสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์
2.5 เนื้อหาของการโฆษณา จะขาดเหตุผลที่หนักแน่นและรัดกุม
2.6 สารโฆษณาจะปรากฎทางสื่อต่างๆ ซ้ำๆ กัน
3.โฆษณาชวนเชื่อ เป็นการพยายามโดยจงใจเจตนา ที่จะเปลี่ยนความเชื่อและการกระทำของบุคคล ให้เป็นไปในทางที่ตนต้องการ ด้วยวิธีต่างๆ โดยไม่คำนึง ถึงความถูกต้อง ของเหตุผลและข้อเท็จจริง ผู้โฆษณามีเป้าหมายที่จะเปลี่ยนความเชื่อและอุดมการณ์ของคน ให้นิยมเลื่อมใสในอุดมการณ์ฝ่ายตน และกระทำพฤติกรรมต่างๆ ตามที่ฝ่ายโฆษณาชวนเชื่อต้องการ
กลวิธีในการโฆษณาชวนเชื่อ
1.การตราชื่อ เป็นการเบนความสนใจและผู้รับสารไปจากเหตุผลและข้อเท็จจริง ผู้รับสารควรพิจารณาหลักการและเนื้อหาต่างๆ ให้รอบคอบเสียก่อน โดยไม่ใช้ความคิด หรือเหตุผลตรวจสอบ
2.การกล่าวสรุปรวมๆ ด้วยถ้อยคำหรูหรา ผู้โน้มน้าวใจมักจะใช้ถ้อยคำที่ผูกพันความคิด หลักการ บุคคล สถาบันและอุดมการณ์ ทำให้ผู้ฟังเกิดความเชื่อถือ เลื่อมใส ด้วยความคิด บุคคลและสถาบัน
3.การอ้างบุคคลหรือสถาบัน ผู้โฆษณาจะเน้นการใช้วิธีอ้างถึงสถาบันหรือบุคคลที่ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้ผู้ฟังเกิดทัศนคติที่ดี หรือเกิดความนิยมชมชอบนโยบาย หลักการหรืออุดมการณ์ของตน
4.การทำเหมือนชาวบ้านธรรมดา ผู้โฆษณาจะเชื่อมโยงตนเองและหลักการหรือความคิดของตน ให้เข้าไปผูกพันกับชาวบ้านเพื่อแสดงตนว่า ตนเป็นพวกเดียวกับ ชนเหล่านั้น
5.การกล่าวแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตน ผู้โฆษณาจะเลือกนำแต่เฉพาะแง่ที่เป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตนมากล่าวโดยพยายามกลบเกลื่อนแง่อื่นที่เป็นโทษ
6.การอ้างคนส่วนใหญ่ ผู้โฆษณาชวนเชื่อพยายามชักจูงให้ผู้รับสารเกิดความตระหนักว่าคนส่วนใหญ่ประพฤติปฏิบัติเช่นนี้
การโน้มน้าวใจจะเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ก็ต่อเมื่อ ผู้โน้มน้าวใจมีเจตนาที่ลวง กลบเกลื่อน หรือปิดบังไม่ให้ผู้รับการได้รับรู้ความจริงและเหตุผลที่จะเป็นต้องรู้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น